ตรวจหาคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ยังคงเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย อาการที่พอสังเกตอาการได้ คือ อาการเจ็บหน้าอก และเหนื่อย ไม่สามารถออกกำลัง หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ กลุ่มผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมักมีอาการภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน เนื่องจากมีสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด และมีการสะสมของแคลเซียมหรือหินปูนร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดมีลักษณะแข็ง และตีบตัน
ตรวจหาแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ คืออะไร
การตรวจหาแคลเซียมหรือหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score) คือการตรวจปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) ใช้เวลาตรวจน้อย และให้ความแม่นยำสูง ซึ่งโดยปกติแล้วแคลเซียมที่จับที่ผนังหลอดเลือดหัวใจไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก หรือจากภาวะหลอดเลือดเสื่อมเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดในคนที่มีปัญหาโรคหลอดเลือดแดง เช่น มีไขมันในเส้นเลือดผิดปกติ มีไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือดก่อให้เกิดปฎิกิริยาทางเคมีทำให้เกิดคราบไขมัน จับตามท่อน้ำให้เกิดเส้นเลือดตีบ และตันเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน
ดังนั้น การการตรวจหาแคลเซียมหรือหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ จึงเป็นคำนวณหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง เพื่อใช้บ่งบอกแนวโน้มถึงโอกาสในการที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจว่ามีมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคทางหลอดเลือดหัวใจ มีอะไรบ้าง
• ประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
• เพศชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุ 50 ปี ขึ้นไป
• หญิงหมดประจำเดือน
• มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน
• สูบบุหรี่
• ไขมันในเส้นเลือดผิดปกติ คอเลสเตอรอล (cholesterol) (ปกติ < 200 มก./ดล.)
• ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) (ปกติ < 150 มก./ดล.)
• มีไขมันแอล ดี แอล (ldl-c) สูง ควร <130 มก./ดล.
• มีไขมันเอช ดี แอล (hdl-c) ต่ำ ควร >40 มก./ดล.
• การไม่ออกกำลังกาย / อ้วน / เครียด
ข้อดีของการตรวจหาแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ
การตรวจวัดปริมาณแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ใช้เวลาตรวจ ประมาณ 10 นาทีเท่านั้น เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และไม่ต้องฉีดสีสวนหัวใจ รวมถึงภาพที่ได้จากการตรวจวิธีนี้จะมีความคมชัดเนื่องจากเครื่องมีความเร็วในการจับภาพสูง อีกทั้งสามารถจับภาพขณะที่หัวใจเต้นได้ดี และบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจได้แม่นยำว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ แพทย์จึงสามารถใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย เพื่อตัดสินใจให้การรักษาให้เหมาะสมสําหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้
ผลตรวจแบบไหนถึงมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
ผลการตรวจ Calcium Score ได้ค่าระหว่าง 0-400 หมายถึงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจต่ำ ถึงปานกลาง ส่วนผลการตรวจ Calcium Score ได้ค่าตั้งแต่ 400 ขึ้นไปอาจมีภาวะหลอดเลือดตีบแอบแฝงอยู่ ภายในระยะเวลา 2-5 ปี เสี่ยงหลอดเลือดหัวใจตีบสูงมาก แม้ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม เมื่อตรวจแล้วควรปฎิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยมีวิธีปฎิบัติตัวอื่นๆ ร่วมด้วยดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ หรือลดปริมาณลง รับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำกากใยสูง (ผัก ผลไม้) หลีกเลี่ยงอาหารหรืองดอาหารไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไข่นกกระทา หอยทุกชนิด กุ้งทุกชนิด มายองเนส เนยเหลว ครีม มาการีนแข็ง ลดอาหารที่มีกะทิ และอาหารทอดทุกชนิด จำกัดการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นต้น
2. ปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะรายที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมถึงในรายที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเกิดขึ้นบ้างแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหัวใจเพื่อรับคำปรึกษา และตรวจสุขภาพอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที/ครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
4. ดูแลสุขภาพจิต พยายามทำใจให้รื่นเริงไม่เคร่งเครียด หงุดหงิด
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติให้สังเกต เช่น เจ็บหน้าอกแล้วหายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ มึนงง เหมือนเป็นลม ใจสั่น เจ็บหน้าอกจนเหงื่อแตกหมดแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจก่อนสาย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมาย กรุณาติดต่อ :
แผนกโรคหัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพเมืองราช
โทร. 032-322274-80 ต่อ 237, 238