การทำหมันชาย
การทำหมัน เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวร ทั้งวิธีการทำหมันชายหรือทำหมันหญิง แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ในการทำหมันหญิงนั้น ฝ่ายหญิงจะเป็นหมันในทันทีที่ทำการผ่าตัดเสร็จแต่ในผู้ชายจะไม่เป็นหมันทันทีหลังการทำหมัน เนื่องจากสรีระเพศชายจะมีถุงเก็บน้ำอสุจิอยู่ในร่างกายอีก 2 ถุง อยู่บริเวณต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกายจะเก็บน้ำเชื้อไว้ได้มากขนาดต้องหลั่งออกไม่น้อยกว่า 25 ครั้ง จึงจะหมด หรือระยะเวลาเฉลี่ย 3 เดือน ดังนั้นผู้ชายที่ทำหมันจึงจำเป็นต้องคุมกำเนิดวิธีใด วิธีหนึ่งเอาไว้จนกว่าแพทย์จะนัดมาตรวจน้ำเชื้อซ้ำหลังทำหมันประมาณ 3 เดือน และพบว่าหมดเชื้อแล้ว ข้อบงชี้ในการทำหมัน – ทั้งคู่ไม่ต้องการมีบุตรแล้วอย่างถาวร – มีบุตรเพียงพอ แล้วหรือไม่ต้องการมีบุตรเพิ่มอีก – ต้องมาพบแพทย์ทั้งคู่สามี-ภรรยา ข้อห้ามในการทำหมัน
  1. มีโรคประจำตัวร้ายแรง ที่มีโอกาสทำให้เลือดออกไม่หยุด
  2. มีประวัติการแพ้ยาชาเฉพาะที่
  3. ยังมีความต้องการที่จะมีบุตรอีก
  4. สามีหรือภรรยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ยินยอมให้ทำหมัน
ข้อดีในการทำหมันชาย
  1. การทำหมันชายเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ปลอดภัย ใช้เวลาไม่นาน
  2. ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ ไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
  3. มีประสิทธิภาพสูงในการคุมกำเนิดอย่างถาวร คือมีอัตราล้มเหลวน้อยกว่าร้อยละ 1
  4. ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำหมันหญิงหรือการคุมกำเนิดด้วยวิธีชั่วคราวอื่นๆ
  5. ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
  6. ไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชาย เนื่องจากไม่มีการรบกวนเส้นประสาทและการสร้างฮอร์โมนของอัณฑะ ผู้รับการทำหมันจึงสามารถทำกิจกรรมทางเพศได้ตามปกติ กล่าวคือมีความต้องการทางเพศและการแข็งตัวของอวัยวะเพศเหมือนเดิม การหลั่งน้ำอสุจิเป็นไปตามปกติ
  7. ไม่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง หรือแก่ก่อนวัย
ความเสี่ยงและผลแทรกซ้อน การทำหมันชายเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยง และมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบ ได้แก่ – มีเลือดออก หรือเลือดคั่งในอัณฑะ – มีการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะป้องกันด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ – มีอาการปวดเรื้อรัง อัณฑะบวม มีเลือดออกหรือรู้สึกปวดขณะหลั่งอสุจิ ***หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที การปฏิบัติตัวก่อนการผ่าตัด
  1. การพบแพทย์เพื่อรับฟังข้อมูล รายละเอียดทั้งคู่สามี และภรรยา เนื่องจากเป็นการทำหมันแบบถาวร
  2. การพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ซักประวัติก่อนทำการผ่าตัด
  3. ในกลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานยาที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความจำเป็นในการงดยาก่อนการผ่าตัดหรือไม่
การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด
  1. หากมีอาการปวดบวมเล็กน้อย สามารถรับประทานยาแก้ปวดและประคบเย็นบริเวณแผลได้
  2. ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดควรพักผ่อนให้มาก โดยอาจทำงานเบาๆ ได้
  3. งดออกกำลังกายหนักเป็นเวลา 3-4 วันหลังผ่าตัด
  4. สามารถอาบน้ำได้ในวันรุ่งขึ้น
  5. งดมีเพศสัมพันธ์ 7 วันแรกหลังการผ่าตัด หลังจากนั้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงยังคงต้องคุมกำเนิดทุกครั้ง
เนื่องจากยังมีอสุจิค้างอยู่ ซึ่งแพทย์จะนัดหมายเพื่อตรวจน้ำอสุจิอีกครั้งในช่วง 2-3 เดือน หลังการผ่าตัดเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีตัวอสุจิหลงเหลืออยู่อีก จากนั้นจึงจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องป้องกันทั้งนี้ การทำหมันชายไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคติดเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดีย และเชื้อไวรัสเอชไอวี ดังนั้นแม้ทำหมันแล้วก็จำเป็นต้องป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย หากยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมาย กรุณาติดต่อ : แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพเมืองราช
โทร. 032-322274-80 ต่อ 271, 276